วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อินเทอร์เน็ตกับการเสริมสร้างการเรียนรู้ของเยาวชนไทย

อินเทอร์เน็ตกับการเสริมสร้างการเรียนรู้ของเยาวชนไทย      

อินเทอร์เน็ตเครือข่ายออนไลน์แห่งโลกอิเล็กทรอนิกส์ดิจิตอล เครือข่ายดังกล่าวเป็นช่องทางสำคัญช่องทางหนึ่งในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร มาพัฒนากิจกรรมของมนุษยชาติ ที่เกี่ยวกับ สังคม เศรษฐกิจ  การเมือง และการศึกษา โดยเฉพาะกับการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะทุกความก้าวหน้า ของเทคโนโลยี คือความก้าวหน้าของการศึกษา และการศึกษาก็สร้างโลกล้ำสมัยในยุคต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น และยุคสมัยนั้นเองที่ทำให้มวลมนุษย์ในโลกใบนี้มีความใกล้ชิดกันอย่างชนิดไร้ ซึ่งพรมแดน ถึงแม้จะอยู่กันคนละมุมโลกก็ตาม'
นักการศึกษามากมายในยุคโลกแห่งอิเล็กทรอนิกส์ดิจิตอล ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า อินเทอร์เน็ต ว่าหมายถึง เครือข่ายคอมพิวเตอร์ในรูปแบบหนึ่ง ที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างองค์กรทางการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก ที่นำเครือข่ายคอมพิวเตอร์ย่อย ๆ ของตน มาเชื่อมต่อเพื่อสื่อสารกันในกลุ่ม  กระทั่งปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศระบบอินเทอร์เน็ตมาช่วยในการ สร้างความรู้และเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ เพื่อลดช่องว่างและระยะเวลา ในการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ และสืบค้นหาความรู้ต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองจากเครือข่ายดังกล่าว  คลังความรู้ซึ่งถูกสร้างและจัดเก็บอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สามารถจัดเก็บได้ในปริมาณมากมายมหาศาลกว่าบรรดาสื่ออื่น ๆ ทั้งหมดที่มีการจัดสร้างขึ้น อีกทั้งอินเทอร์เน็ตยังเป็นเครือข่ายที่มี  การเผยแพร่ข้อมูลระดับโลกที่มีราคาถูกที่สุด (กรภัทร์  สุทธิดารา,ไม่ระบุปีที่พิมพ์,137 ) โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยได้อย่าง ถูกต้อง แม่นยำ รวมไปถึงการเป็นเครือข่ายแห่งการเรียนรู้  ที่สนับสนุนการเรียนการสอนซึ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (CHILD CENTER LEARNING) ได้เป็นอย่างดี  รวมทั้งตอบสนองผู้เรียนที่ชื่นชอบการ คิดค้น โดยการสร้างความรู้และความเข้าใจ  ใหม่ ๆ  ได้ด้วยตนเอง สามารถเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ให้เข้ากับชีวิตจริง และทำให้การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปอย่างต่อเนื่อง  ฉะนั้นบทบาทการเรียนรู้ในอนาคตคงจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบอินเทอร์เน็ตมาก ขึ้น การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องได้รับการศึกษา
อินเทอร์เน็ต จึงเป็นโลกเสมือนของระบบการจัดการในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ที่มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก เข้ามาจับจองพื้นที่นำเสนอระบบของตน โดยเฉพาะกับระบบการจัดการศึกษา ซึ่งมีปริมาณมากมายมหาศาลบนโลกออนไลน์ ที่ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนของชาติ  ซึ่งล้วนแต่มีประโยชน์แตกต่างกันไปในแต่ละระบบของผู้คิดค้น กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาในภาพรวมของชาติ โดยองค์กรหนึ่งของรัฐที่ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้  สร้างเสริมการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์แบบให้กับเยาวชนไทย โดยระบบที่มีประสิทธิภาพและใช้อยู่  ในขณะนี้ ไดแก่  ระบบการบริหารการเรียนการสอน LMS  ระบบดังกล่าวได้รับการตอบรับ  เป็นอย่างดี จากสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งภาครัฐและเอกชนในปัจจุบัน
 ระบบ บริหารการเรียนการสอน (LEARNING MANAGEMENT SYSTEM : LMS) เป็นระบบที่อำนวยความสะดวกให้แก่ นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และผู้บริหารการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีที่เข้าถึงพฤติกรรมของคนไทย ให้สามารถนำไปใช้จัดระบบการลงทะเบียน แสดงผลการเรียน การสร้าง การจัดเก็บและเผยแพร่สื่อการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ได้โดยง่าย อีกทั้งมุ่งเน้นให้เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูล บทเรียนและเสริมสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในสถานศึกษา และหน่วยงานการจัดการฝึกอบรม เทคโนโลยีที่ใช้ในระบบดังกล่าวเรียกว่า  EDUCATION SPHERE LEARNING MODEL

ระบบบริหารการเรียนการสอนLMS เป็นระบบที่กระทรวงศึกษาธิการได้จัดเตรียมไว้สำหรับการเรียนการสอน ซึ่งก็ประกอบไปด้วย ระบบบริหารจัดการหลักสูตร  ระบบบริหารการสร้างและจัดการเนื้อหา ระบบบริหารการเรียนการสอนผ่านห้องเรียนเสมือน ระบบติดตามประเมินผล  ระบบการสร้างปฏิสัมพันธ์ในการเรียนรู้   ทั้งนี้สามารถสรุปแยกย่อยแต่องค์ประกอบของระบบที่เรียกว่า EDUCATION SPHERE LEARNING MODEL ได้ดังนี้(ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร,ระบบบริหารการเรียนการสอน, อ้างอิงในแผ่นพับ)
1. MESSAGE BOARD ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในรายวิชาเดียวกัน แต่เป็นการสื่อสารแบบ ASYNCHRONOUS  ซึ่งแต่ละคนไม่จำเป็นต้อง ONLINE พร้อมกัน แต่จะเป็นลักษณะกระดานข่าว ที่แต่ละคนสามารถ POST ข้อความ ซึ่งเรียกกันว่ากระทู้ โดยเพื่อนในชั้นเรียน และผู้สอน สามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในกระทู้นั้น หรือตั้งกระทู้ใหม่ลงในกระดานข่าวได้
2. LIVE BOARDCAST ทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าได้เรียนกับผู้สอนจริง โดยการถ่ายทอดสด ช่วยให้ได้รับฟังเนื้อหา และเห็นภาพผู้สอนเหมือนฟังบรรยายในห้องเรียน สามารถบันทึกไว้ศึกษาทบทวนได้ในรูปแบบวิดิโอออนดีมานด์
3. FAQS เป็นการประมวลคำถามที่มักเกิดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนสามารถค้นหาคำ ตอบอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องคอยให้ผู้สอนตอบคำถาม ผู้สอนสามารถเขียนคำถามและตอบคำถามไว้ในระบบได้ด้วยตนเอง
4. DOCUMENTS ผู้เรียนสามารถได้เรียกดูข้อมูลที่ผู้สอนเตรียมไว้ให้แก่ผู้เรียน พร้อม ๆกับบทเรียนที่ผู้เรียนได้เรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์
5. VDO CONFERENCE เป็นเครื่องมือที่ทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน เรียนรู้ ติดต่อสื่อสาร และโต้ตอบกัน เหมือนได้นั่งเรียนอยู่ในห้องเดียวกัน
6. CHAT เครื่องมือสำหรับสื่อสารแบบ REAL TIME ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ปรึกษา หารือ เหมือนนั่งสนทนาอยู่ในห้องเดียวกัน
7.  URL LINK ช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่าง ๆ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว
จากเครื่องมือดังกล่าวข้างต้น ล้วนเป็นเครื่องมือที่สามารถอำนวยความสะดวก และเอื้อต่อการเรียนรู้ในห้องเรียนที่สามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างผู้สอนกับผู้สอน ผู้สอนกับผู้เรียน และผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกัน เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเองอีกด้วย ซึ่งทำให้ผู้เรียนไม่รู้สึกว่ากำลังเรียนกับคอมพิวเตอร์เพียงลำพัง แต่จะรู้สึกว่าตนได้อยู่ในชุมชนการเรียนรู้ที่มีทั้งผู้สอนและเพื่อนร่วม ชั้นเรียนในรูปแบบออนไลน์อีกด้วย(ระบบบริหารการเรียนการสอน, อ้างอิงในแผ่นพับของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  กระทรวงศึกษาธิการ)
การออกแบบการสอนผ่านระบบเครือข่าย INTERNET  ด้วยโปรแกรมจัดการระบบ (LEARNING MANAGEMENT SYSTEM: MOE LMS) เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการบริหารจัดการเรียนการสอนแบบ E-LEARNING เพื่อแสดงให้เห็นว่า LMS สามารถจัดการลงทะเบียนเข้ามาเรียน และวัดผล ประเมินผลการเรียนได้ มีการตรวจให้คะแนนผลการเรียน และตอบสนองต่อผู้ใช้ รวมทั้งการตรวจสอบจำนวนผู้เรียนที่เข้ามาเรียนในระบบนี้  ซึ่งนอกจากจะต้องรู้จักโปรแกรมที่จัดการ (LMS) ใน E-LEARNING แล้ว ยังต้องมีเนื้อหาสาระต่าง ๆ ที่ให้ผู้เรียนใช้ในการเรียนรู้ นั่นคือ DIGITAL CONTENT ซึ่งเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วยจุดประสงค์การเรียนรู้ แบบทดสอบ ก่อน-หลังเรียน เนื้อหาสาระความรู้ สื่อประกอบการสอนและการวัดและประเมินผล  การเรียน ซึ่งครูจะได้รับการอบรมให้มีความรู้ ทักษะการใช้ LMS ที่เป็นการจัดการระบบและได้ฝึกสร้างเนื้อหาบทเรียนเพื่อนำไปใช้ทดลองสอนกับ นักเรียน

ผลงานที่ปรากฏกับครู กล่าวคือ ครูสามารถออกแบบการสอนและสร้างเนื้อหาบทเรียน ONLINE ที่ใช้ ICT และสร้างสื่อในระบบการเรียนการสอนแบบ E-LEARNING ได้ ครูมีความรู้ ความเข้าใจและจัดการเรียนรู้ ในระบบการเรียนการสอนแบบ E-LEARNING ครูสามารถติดตามผลความก้าวหน้าในการเรียนรู้แบบ ONLINE  ได้
ผลงานที่ปรากฏกับนักเรียน ได้แก่ นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกคนทุกที่ และทุกเวลาและทั้งในลักษณะการเรียนเสริม และเรียนซ้ำในส่วนที่ยังไม่เข้าใจได้ด้วยตนเองผลงานที่ปรากฏกับโรงเรียน ได้แก่  โรงเรียนมีการประยุกต์ E-LEARNING เพื่อให้บริการผู้เรียนได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือที่ใด โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้และสื่อการสอนที่สร้างอย่างเป็นระบบ(สำนักงานคณะ กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,2549:14-15)
การใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อการศึกษาจึงมีความหมายครอบคลุมกิจกรรมด้านการศึกษาที่ถูกวางรูปแบบ โดยครูผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต  เป้าหมายหลักของการศึกษาที่ควรคำนึงถึงก็คือ  ครูต้องสร้างกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระดับผู้เรียน  การเสริมทักษะและความรู้ให้กับครูผู้สอนจะช่วยให้การเรียนการสอน มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายการศึกษาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ปัญหาและการเรียนรู้ของเด็กไทย เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง  การปรับปรุงการเรียนการสอนให้เข้ากับยุคสมัยจึงเป็นสิ่งสำคัญและจากการที่ กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำระบบบริหารการเรียนการสอน (LMS) มาใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  และเพื่อให้รูปแบบดังกล่าวประสบผลในทางปฏิบัติจึงได้ดำเนินการพัฒนาโรงเรียน รูปแบบใหม่ โดยเน้นการใช้ ICT  เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้สำหรับการเรียนการสอน ซึ่งเป้าหมายสำคัญก็คือการพัฒนาครูให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ ICT เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นผู้คิด ผู้สร้าง ผู้ผลิตชิ้นงานที่เกิดจากการเรียนรู้  และครูสามารถนำ ICT ไปใช้บูรณาการในการจัดการเรียนรู้ในสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคซันนิสม์ (CONSTRUCTIONISM)  ที่เน้นผู้เรียน เป็นสำคัญ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,2549:3)
การเสริมสร้างการเรียนรู้ของเยาวชนไทยในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ในความคิดของผู้เขียน นับเป็นสิ่งท้าทายในการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะการพัฒนาเยาวชนไทยให้มีความรู้ ความสามารถ มีสติปัญญาทัดเทียมกับนานาประเทศโดยเลือกเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมาประยุกต์ ใช้ในการเรียนการสอนเป็นเรื่องยากที่สามารถทำได้ และในขณะเดียวกันก็สามารถพัฒนาความรู้ด้าน ICT ให้กับครูและอาจารย์ได้ด้วย นอกจากนั้นในการพัฒนาหลักสูตรและสร้างสื่อการเรียนการสอนด้วย ICT ก็เป็นสิ่งที่วงการการศึกษาให้ความสนใจและสนับสนุนให้มีการพัฒนาได้ อย่างกว้างขวางออกไป  ฉะนั้นประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตที่นำมาใช้ในวงการการศึกษาจึงมีมากมายมหาศาล  ทำให้การแสวงหา ความรู้ของเด็กไทยจะไม่ถูกปิดกั้นเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา  วิถีแห่งการเรียนรู้ของเด็กจึงไม่มีที่สิ้นสุด เด็กจะสามารถสั่งสมความรู้นั้นไปได้ตลอดชีวิต เด็ก ๆ จะได้รับประสบการณ์ตรงเสมือนและมีความรู้ที่ถาวร คงทน ซึ่งจะนำพาเยาวชนไทยก้าวไปสู่ระดับสากล เป็นเด็กเก่ง เด็กฉลาดของประเทศ และสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติของเราสืบต่อไป แต่ปัญหาที่ก้าวตามมากับการจัดระบบดังกล่าวข้างต้น ก็คือ การก้าวตามเทคโนโลยีล้ำยุคอย่างไม่หยุดยั้ง อันเป็นผลมาจากความไม่พร้อมของบุคลากรในชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องเร่งแก้ไขโดยระบุปัญหาดังกล่าวให้ เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคนไทยทุกคนจะต้องได้รับการพัฒนาที่เท่าเทียมกัน ถึงจะทำให้เยาวชนของเราก้าวทันนานาประเทศได้ ท่านเห็นด้วยหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น