วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

'อินเทอร์เน็ต' เพื่อการศึกษา อาหารสมอง ของนักเรียนชนบท


'อินเทอร์เน็ต' เพื่อการศึกษา อาหารสมอง ของนักเรียนชนบท
เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาองค์กร และสังคมในทุกๆ ส่วน อย่างที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ นับวันเทคโนโลยีดังกล่าว ก็ยิ่งขยับเข้ามา ใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกขณะ
การพัฒนาทางการศึกษาในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งในรูปแบบและขอบเขตของการศึกษาภายใต้การปฏิรูปทางการศึกษาตามเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี พ.ศ.2542 และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการพัฒนาการศึกษาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'อินเทอร์เน็ต' ที่ช่วยขยายแหล่งความรู้นั้นให้กระจายไปยังเยาวชนนักเรียนนักศึกษา โดยสามารถเข้าไปค้นคว้าด้วยตัวเองอย่างไร้ขีดจำกัด และขยายโอกาสการเรียนรู้ให้กระจายไปยังกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในภูมิภาคห่างไกลด้วย
มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ระบุว่า การศึกษาหมายถึง
กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึกอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างจรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
อินเทอร์เน็ตจึงเป็นขุมความรู้ปริมาณมหาศาล และเป็นเครื่องมือสื่อสารสืบค้นที่สะดวกรวดเร็วและไร้พรมแดน สามารถเอื้อให้เกิดการเรียนรู้จากทุกที่ไม่จำกัดแค่เพียงในห้องเรียน หรือในเวลาเรียนเท่านั้น จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการศึกษาทั้งในและนอกระบบ และตามอัธยาศัย
ที่สำคัญยังเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่ต้องการศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการศึกษาพัฒนาความรู้ตลอดชีวิตสอดคล้องกับพระราชบัญญัติ
อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา นับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างกลุ่มคนในสังคม และเป็นการเพิ่มพูนการเรียนรู้ของบรรดานักเรียนที่เตรียมพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นบุคลากรที่เปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมแห่งปัญญาและความรู้ (Knowledge based Society) ในอนาคตข้างหน้า
สำหรับประเทศไทย การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชน ยังปรากฏความไม่เสมอภาคค่อนข้างชัด อาจจะสืบเนื่องมาจากข้อจำกัดทางทุนทรัพย์ ปัญหาทางด้านการสื่อสาร หรือโทรคมนาคมพื้นฐาน การขาดความรู้ความเข้าใจ หรือไม่เล็งเห็นประโยชน์ซึ่งหากปัญหาความไม่เสมอภาคในเรื่องนี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ช่องว่างของโอกาสการเรียนรู้ของคนไทย และนักเรียนจะกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านศึกษาเพิ่มมากยิ่งขึ้น
โครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย (School Net) ซึ่งริเริ่มและดำเนินการโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ด้วยความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการที่ลดความไม่เสมอภาคดังกล่าว โดยการให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแก่โรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลแก่อาจารย์และนักเรียน เพื่อให้เทคโนโลยีถูกใช้เพื่อการพัฒนาการศึกษา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป
เกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการประสานงานการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา กล่าวถึงนโยบายการจัดการจัดงาน มหกรรมอินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษาในโรงเรียน (School Net Day) ขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้ครูอาจารย์ จากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา ได้เห็นถึงประโยชน์ของการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการศึกษา และปรับปรุงคุณภาพการศึกษา รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น และประสบการณ์ทางด้านวิชาการซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่แห่งเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาของไทย
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความทั่วถึงและเท่าเทียมทางด้านการศึกษาให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเป็นการยกระดับการศึกษาของเด็กไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ อีกทั้งยังเป็นโครงการที่สนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาไทยตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่มุ่งเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Child Center) โดยมีครูอาจารย์คอยให้คำแนะนำ และสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) เป็นการพัฒนาบุคลากรไทยให้เป็นบุคคลที่มีความสามารถและศักยภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
พิชชาภรณ์ อุโพธิ์ นักเรียนจากโรงเรียนสาธิตสถาบันราชภัฏสงขลา เจ้าของรางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศ การประกวดเรียงความของนักเรียนในระดับประถมศึกษา ในหัวข้อ 'คอมพิวเตอร์กับสังคมในสายตาของฉัน' ได้กล่าวแสดงทัศนคติถึงอินเทอร์เน็ตกับนักเรียนไทยในอนาคต ว่า อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากในการรับรู้ข่าวสาร การติดต่อ การสื่อสาร การศึกษา สิ่งเหล่านี้คือประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต
แต่ถ้าในเวลาที่เท่ากันเรากลับทำในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เช่น การหาความบันเทิงจากอินเทอร์เน็ตมากเกินไป หรือดูรูปลามกอนาจาร นั่นคือ โทษจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่ผิดวัตถุประสงค์ ส่วนผลที่ได้รับ ถ้าในระยะเวลาที่เท่ากันเราใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นหาข้อมูลเพื่อการศึกษา หรือเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ที่มีประโยชน์ กับเรื่องที่ไร้สาระ ลองคิดดูว่า อย่างไหนจะคุ้มค่ามากกว่ากัน
เนรมิต น้อยสำลี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา กล่าวว่า หากโครงการดังกล่าวนี้สามารถดำเนินการให้กับโรงเรียนทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึง คงจะเป็นการยกระดับการศึกษาของนักเรียนไปอีกก้าวหนึ่ง ซึ่งปกติที่โรงเรียนก็มีอยู่แล้ว แต่เพราะจำนวนที่น้อยเกินไม่เพียงพอต่อนักเรียน เพื่อนบางคนยังไม่กล้าคลิกเมาส์เลยด้วยซ้ำไป เพราะกลัวว่าจะพัง แล้วจะไม่มีใช้
บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าคำว่า 'เวบไซต์' หมายถึงอะไร หากโครงการดังกล่าวสามารถขยายไปสู่โรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะในชนบทได้ ก็จะเป็นการเปิดหน้าใหม่ให้กับการศึกษาไทยได้เลยทีเดียว
ว่าที่ร้อยตรี วัชรินทร์ วรรณตุง ผู้ช่วยฝ่ายวิชาการ โรงเรียนนวมินทราชูทิศ ทักษิณ ซึ่งมีส่วนผลักดันการศึกษาให้ควบคู่กับเทคโนโลยีทางสารสนเทศ โดยเฉพาะด้านอินเทอร์เน็ต จนสามารถคว้ารางวัล 'โรงเรียนดีเด่นด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางอินเตอร์เน็ต'
ทางโรงเรียนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของ กลุ่ม SouthernNet ซึ่งมีกิจกรรมทางด้านวิชาการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จึงทำให้นักเรียนในโรงเรียนมีโอกาสเรียนรู้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น ก่อนที่จะสามารถใช้คอมพิวเตอร์เป็นแหล่งข้อมูลค้นคว้าต่อไปในอนาคต
และทันทีที่มีโครงการ (School Net) ทางโรงเรียนก็ได้เข้าร่วมโครงการ เพื่อจะเป็นการเพิ่มข้อมูลและฐานการศึกษาทางด้านอินเทอร์เน็ตแก่นักเรียนในโรงเรียนมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนในโรงเรียนมีส่วนร่วมและใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา โดยจัดกิจกรรมทางด้านวิชาการและสร้างเครือข่ายห้องสมุด Digital Library โดยให้นักเรียน และคณาจารย์เป็นผู้ดูแล เพื่อจะเป็นแนวทางในการศึกษาทางด้านอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคตด้วย
หากโครงการนี้สามารถดำเนินได้รวดเร็ว และครบร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกโรงเรียนทั่วประเทศเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเราก็อาจจะสามารถบอกลาการศึกษาของเด็กไทยแบบเก่าที่เรียนแบบท่องจำ หรือเรียนแบบนกแก้วนกขุนทองเสียที
อ้างอิง : ไพศาล รัตนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น